เครื่องใช้ไฟฟ้า ฿ ปลีก-ส่ง บริการจัดส่งถึงบ้าน. ตู้เย็น, ตู้แช่, ตู้แช่แข็ง, ตู้แช่เครื่องดื่ม, ตู้แช่ไวน์, ตู้แช่เบียร์, เครื่องซักผ้า, เครื่องทำน้ำอุ่น. เตรื่องทำน้ำเย็น และอื่นๆ Line : @sripiboon Email : [email protected] โทร. 081-667-4605

บทความ

ห้องสอนกรรมฐาน ตอนที่ ๒

17-02-2563 10:00:32น.
 ห้องสอนกรรมฐาน ตอนที่ ๒

ตอน 2

    ท่านทุกคนได้จดจำและทำความเข้าใจได้แล้วหรือยัง และได้เริ่มนำเอาคำแนะนำในตอนที่ 1 ไปปฏิบัติบ้างหรือเปล่า? หากท่านทั้งหลายยังไม่ได้จดและจำ  ยังมิได้นำคำแนะนำที่ให้ไปแล้วมาคิดพิจารณาตรึกตรองหาเหตุผล  ก็คาดหวังได้ว่าท่านทุกคนต้องล้มเหลวในการปฏิบัติธรรมอย่างแน่นอน  เพราะมรรคทางเดินในการปฏิบัติธรรมนั้น ต้องอาศัยความตั้งใจจริง ถ้าบุคคลใดขาดความตั้งใจจริงในการปฏิบัติ   มันก็บรรลุผลได้ยาก!! 

     วันนี้เราลองมาทบทวนคำแนะนำ ในวิธีการปฏิบัติในเบื้องต้นว่ามีอะไรบ้าง.   ขั้นต้นเราต้องรวบรวมกำลังใจของเรา ให้มีความศรัทธาอย่างแรงกล้าเสียก่อน   เราเชื่อในคำสั่งและคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า.. เป็นจริง..มีมรรคผลจริง ไม่มีความลังเลสงสัยใดๆทั้งสิ้น

    เราจะตั้งใจละในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม   และเราจะตั้งใจเจริญในสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เจริญ   สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงห้าม คือให้ละบาปอกุศลทั้งปวงที่มีอยู่ในใจเรา   เราต้องตั้งใจล้างบาปให้ได้  ส่วนคำแนะนำที่พระพุทธองค์ให้ปฏิบัติให้เจริญได้แก่ เมตตา ทาน ศีล ภาวนา เราก็ตั้งใจทำให้ได้ 

     ภายหลังจากที่เรารวบรวมจิตใจของเราให้ตั้งอยู่ในความคิดเห็นที่ถูกต้อง(สัมมาทิฐิ)   รู้ว่าอะไรถูก รู้ว่าอะไรผิดได้แล้ว  เราก็เริ่มปฏิบัติ  ข้อวัตรข้อแรกคือการสวดมนต์ไหว้พระ.. สาเหตุที่ให้สวดมนต์ไหว้พระเป็นข้อวัตรเริ่มต้นนั้น ก็เพราะมันจะทำให้จิตของเราผูกอยู่กับพระพุทธเจ้า เมื่อจิตของเราผูกอยู่จนเป็นพุทธานุสติ (คือตามระลึกความดีของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์) แล้ว การที่เราจะปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนก็จะง่ายขึ้น นี่คือคำแนะนำที่ให้ไป จากครั้งที่แล้ว 

     จะเริ่มวันนี้ คือวิธีการสวดมนต์ไหว้พระนั้น ขอให้หัดสวดเป็นณาน (คือการสวดมนต์เป็นสมาธิ)   ในขั้นแรกต้องจดและจำคำสวดมนต์ในบทต่างๆ ที่เราต้องการจะสวดให้ได้เสียก่อน.   เมื่อจดจำให้ขึ้นใจได้แล้ว ก็เริ่มสวดมนต์ในใจอย่างช้าๆอย่ารีบร้อน   โดยในขณะที่สวดในใจนั้น  ให้จิตของเราเพ่งจดจ่ออยู่ที่บทสวดเพียงอย่างเดียว   อย่าปล่อยจิตของเราออกไปคิดถึงเรื่องอื่น   ให้เพียรพยายามทำให้ได้เป็น “อารมณ์เดียว”  หรือที่ทางพระท่านเรียกว่า “เอกัคคตารมณ์”  คือจิตเราเพ่งอยู่่กับบทสวดมนต์เพียงอย่างเดียว..จนนิ่งอยู่ในบทสวดมนต์     ในขั้นแรกขอให้ทำตรงนี้ให้ได้เสียก่อน ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลา ต้องอาศัยกำลังใจ และความเพียรเป็นอย่างมาก!!   ถ้าตั้งใจก็ย่อมจะได้ผลกันทุกคนแน่นอน. 

       เมื่อท่านสามารถควบคุมใจของตนเองให้จดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์  จนจิตไม่เคลื่อนออกไปคิดเรื่องอื่นๆได้แล้ว   ขั้นต่อไปก็ขอให้ท่านเริ่มฝึกหัดจิต. ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกช้าๆ..อย่ารีบร้อน   โดยเอาจิตจับเพ่งดูลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก.  เวลาหายใจเข้าลมกระทบที่ปลายจมูกก็รู้ว่าลมเริ่มหายใจเข้าไป.. เวลาหายใจออกลมกระทบที่ปลายจมูกก็รู้ว่าลมเริ่มหายใจออก   ให้ฝึกทำแบบนี้ไปจนรู้สึกว่าใจของเราพอที่จะควบคุมลมหายใจเข้าออกได้     ถึงตอนนี้ก็ให้เริ่มหัดสวดมนต์ควบคู่กับการรู้ลมหายใจเข้าและออก.. ไปพร้อมๆกัน  นั่นหมายความว่า ในขณะที่เราสวดมนต์อยู่   จิตของเราจดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์ และยังรู้ด้วยอีกว่าขณะนั้นเราหายใจเข้าหรือหายใจออก 

ถ้าท่านใดเพียรสามารถทำได้ถึงตรงนี้    ท่านก็จะเริ่มรู้สึกพบกับความมหัศจรรย์ต่างๆ   ส่วนจะมหัศจรรย์ยังไง  เอาไว้ให้ท่านรู้สึกด้วยตนเองจะดีกว่า    แต่อย่างน้อยๆ ท่านใดที่ฝึกมาถึงแค่ตรงนี้   จิตใจของท่านผู้นั้นจะเริ่มมีีความสงบร่มเย็น   การดำรงค์ชีวิตก็จะเบากว่าคนอื่นที่ไม่ได้ฝึก   ตรงนี้เองคือจุดที่จะเริ่มต้นของการฝึกในสิ่งที่ยากขึ้นไปอีก 

      ผมขอยืนยันกับพวกท่านทุกคนได้เลยว่า การปฏิบัติที่จะเข้าให้ถึง.. ศีล สมาธิ ปัญญา.. พระอริยมรรค พระอริยะผล และนิพพาน.  มันจะเป็นของไม่ยาก   เราสามารถทำให้ถึงได้   เพียงแต่ท่าน.. ทำให้จริง ทำให้ถูก ทำให้พอดี   คือหมายถึงตั้งใจทำจริง ไม่ใช่ทำเล่นๆ   ทำบ้างไม่ทำบ้าง   ทำให้ถูกหมายถึงทำให้ถูกต้องตามคำแนะนำ    ท่านอย่าไปทำตามที่ตัวเองคิด.. มันจะผิดไม่ได้ผล     ส่วนทำให้พอดี. หมายถึงอย่าเคร่งเครียดเกินไป จะเป็นโรคประสาท   ทำให้พอดี   อะไรก็ตามที่ทำแล้วไม่พอดี   มันจะมีแต่ความเสียหาย เช่นถ้าเราขับรถเร็วจนเกินพอดี  ถ้ามีอะไรมาตัดหน้า มันเบรกไม่ทัน   ก็ต้องชนหรือไม่รถก็คว่ำ และที่เป็นอย่างนี้ เพราะมันเร็วเกินพอดี เบรกไม่ทัน   ถ้าความเร็วเราขับพอดีๆ มีอะไรตัดหน้าเราจะเบรกมันทัน   การปฏิบัติกรรมฐานก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราทำพอดีๆ  มันย่อมจะเกิดแต่ผลดี ไม่มีในเรื่องเสียหาย  คำแนะนำทุกอย่าง. ที่ผมแนะนำมานี้   ล้วนแต่ผ่านมาด้วยตัวเองแล้วทั้งนั้น. ทำตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน  มิได้ทำตามที่ตนเองคิด แต่ทำตามที่ครูบาอาจารย์แนะนำด้วยตั้งใจจริง  สิ่งไหนที่ท่านห้ามผมจะไม่ทำ..   สิ่งไหนที่ท่านสั่งให้ทำ  ผมจะไม่ละเว้น..   ตรงนี้ที่ทำให้เกิดผล

        ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้. ท่านทำของท่านมาอย่างนี้.. เมื่อเรามาปฏิบัติตามท่านผลมันย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน   ท่านได้รับผลแบบไหนเราย่อมได้รับผลแบบนั้น   เพราะเราปฏิบัติตามท่าน เพราะฉะนั้นขอท่านทั้งหลายอย่าข้ามขั้นตอนที่ผมแนะนำให้แก่ท่านก็แล้วกัน   ท่านทุกคนควรไปปฏิบัติให้ได้ขั้นต้นเสียก่อน   เมื่อท่านทำได้แล้ว ถึงเวลานั้นแล้วท่านทุกคนจะรู้เอง   ทุกขั้นตอนที่แนะนำมาให้นั้น   มันเป็นสิ่งที่ส่งผลให้ขั้นปฏิบัติตอนอื่นๆได้รับผลดีด้วย   อย่างเช่น นับแต่เราเริ่มฝึกหัดจิตใจของเราให้มันตั้งอยู่ในความคิดเห็นที่ถูก (สัมมา-ทิฐิ) คือรู้และเข้าใจว่า มีส่วนไหนบ้างที่จิตใจของเรายังคิดผิดหรือหลงผิดอยู่   ถ้าเรายังมองไม่เห็นความผิดของตัวเอง มันจะเอาอะไรเข้าไปสู่ความดีได้  และเมื่อจิตยังมีความหลงอยู่ จะเอาจิตตรงไหนไปเข้าถึงพระได้   และเมื่อจิตไม่มีพระเป็นที่ยึดเหนี่ยว มันจะเอาจิตใจตรงไหนไปเดินตามคำสอน ถึงพระธรรม..   แม้นจะแนะหนทางการปฏิบัติให้เข้าถึง ให้ละเอียดสักเท่าใด?  ก็ใช่ว่าบุคคลนั้นจะเข้าถึงได้ หรือบรรลุได้.. นี่ล่ะ!!ที่ท่านทั้งหลายเพียรปฏิบัติธรรมมาหลายปีแต่ก็เอาดีไม่ได้  ก็เพราะเหตุอย่างนี้.  

   การปฏิบัติธรรมไม่ได้ยากอย่างที่่เราคิด   ที่มันยากก็เพราะเรายังไม่คิดจะเอาดี และที่เราไม่คิดจะเอาดีก็เพราะจิตของเรา ยังมองไม่เห็นทุกข์    ที่มองไม่เห็นทุกข์ก็เพราะจิตยังลุ่มหลงในกิเลสตัณหา   ยังพอใจสนุกเพลิดเพลินไปกับกาม  โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่จิตของเราไปติดอยู่นั้น   นั่นล่ะคือที่มาของทุกข์ทั้งหลาย

       คนที่ปฏิบัติแล้วเห็นทุกข์เห็นโทษของกามนั้น.. ก็ไม่ใช่หมายความว่าคนๆนั้นมีสมาธิสูงๆ  ก็หาไม่   เพียงแต่คนๆนั้นเขามีสติ  คิดใคร่ครวญหาเหตุหาผลว่า  กามที่เราลุ่มหลงตรงนั้น  มันให้ความสุขหรือความทุกข์แก่เรา   เมื่อจิตที่เคยถูกอบรมณ์มาให้มีีความคิดเห็นถูกต้องตามเป็นจริง  มันก็จะมองเห็นตามจริงว่า  มันจะให้ทุกข์โทษมากกว่าความสุข  นี่ล่ะคนเช่นนี้ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “เป็นคนที่ตั้งอยู่ในสัมมาทิฐิ” เมื่อจิตมันเห็นว่ากามเป็นทุกข์เป็นโทษ  มันจึงคิดตั้งใจที่จะออกจากทุกข์..จากโทษตรงนั้น. คืออยากออกจากกาม..

     ความเป็นจริงคนในโลกนี้ไม่มีใครต้องการความทุกข์  แต่ที่ยังต้องการอยู่คือมันไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์  มันมองไม่เห็น เหมือนปลาที่หลงเยื่อ  โดยไม่รู้ว่ามีเบ็ดซ่อนอยู่ในเหยื่อนั้น   เมื่อหลงเยื่อก็ต้องติดเบ็ดเป็นของธรรมดา  ความทุกข์ใหญ่จึงเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว   แต่เมื่อคนใดได้คิด มีจิตมองเห็นความจริง  มันก็จะคิดออกจากกาม   การที่เห็นทุกข์เห็นโทษและคิดจะออกจากกามนี้  ทางการปฏิบัติเราเรียกว่า “สัมมาสังกัปโป” คือมีความดำริชอบ  พออารมณ์จิตปฏิบัติมาถึงตรงนี้  จิตมันจะขวนขวายหาธรรมะ  มันจะเกิดความตั้งใจขึ้นมาเอง..ไม่ว่าจะสวดมนต์   ให้ทาน  รักษาศีล  การทำสมาธิ  ไม่ต้องให้ใครมาบังคับ  ไม่ต้องให้ใครหาอุบายมาชักจูง  จิตจะกระหายในการปฏิบัติกรรมฐานเอง   จิตที่มันไม่เคยจะใส่ใจในการปฏิบัติ  มันก็จะมีกำลังขึ้นมา   ตรงนี้ล่ะที่ผมบอกว่า  คำแนะนำที่ให้ไปนั้นมันจะมีผลเป็็นขั้นเป็นตอน   สัมมาทิฐิจะส่งผลให้เกิดสัมมาสังกัปโป  คือเมื่อจิตของเราได้คิดได้เห็นตามเป็นจริงว่า  ทุกข์โทษที่เราได้รับนั้นมันเกิดจากจิตใจของเราเองทั้งสิ้น  จิตของเราจึงมีความดำริที่คิดจะออกจากความผิดตรงนั้น  

      ถึงตรงนี้แล้วใจก็คิดอยากจะให้ทาน รักษาศีล  ทำสมาธิ โดยไม่ต้องฝืนบังคับใจตนเอง  เพราะฉะนั้นจะฝึกข้ามขั้นตอนไปไม่ได้โดยเด็ดขาด!!   ถ้าจะเอาผลกันจริงๆต้องเชื่อคำแนะนำทั้งหลายเหล่านี้   บูรพาจารย์ท่านก็พากันปฏิบัติกันมา  และได้บรรลุมรรคผลตามๆกัน.   เมื่อเราท่านทั้งหลาย  มีความปรารถนาในมรรคผลนั้น.. เราก็ต้องปฏิบัติตามที่ท่านได้ปฏิบัติกันมา เราจึงจะได้    ผมใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายจงเอาข้อธรรมที่ผมได้กล่าวมานี้   ไปคิดพิจารณาว่า จะสมควรเป็นจริงดังที่ผมกล่าวมาแล้วหรือไม่??  ถ้าท่านเห็นจริงตามนั้น..  ก็ขอท่านจงนำไปประพฤติปฏิบัติเถิด   แต่ถ้าท่านเห็นว่า ไม่สมควรก็ขออย่าได้นำไปปฏิบัติเลย เพราะจะทำให้ท่านเสียเวลาเปล่าๆ

                                                                                                                                                                                          อ.กสินัง

##############################################################12/พ.ย./2550