เครื่องใช้ไฟฟ้า ฿ ปลีก-ส่ง บริการจัดส่งถึงบ้าน. ตู้เย็น, ตู้แช่, ตู้แช่แข็ง, ตู้แช่เครื่องดื่ม, ตู้แช่ไวน์, ตู้แช่เบียร์, เครื่องซักผ้า, เครื่องทำน้ำอุ่น. เตรื่องทำน้ำเย็น และอื่นๆ Line : @sripiboon Email : [email protected] โทร. 081-667-4605

บทความ

เรื่องเล่าจากท่านอาจารย์ขจร ตอนที่ ๑

17-02-2563 10:00:36น.
เริ่มตอนที่ ๑

เรื่องเล่าจากท่านอาจารย์ขจร

 

ท่านอาจารย์ขจร ได้กรุณามอบหมายให้ผมรวบรวมและเรียบเรียงคำสอนธรรมะต่างๆ ที่ผมเองได้มีโอกาสฟังธรรมจากท่านอาจารย์ ซึ่งสอนทุกๆวันอาทิตย์แรก วันอาทิตย์สุดท้ายของทุกเดือน และวันที่มีการจัดเตรียมเครื่องสังฆทานก่อนไปทำบุญกันทุกๆเดือน.. ตัวผมเองยังได้มีโอกาสติดตามท่านอาจารย์ไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อบำเพ็ญกุศล  ในโอกาสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอและใกล้ชิด.. ทำให้ผมได้รับฟังเรื่องราวต่างๆมากมาย ที่มีเนื้อหาสาระเป็นประโยชน์มาก.. ข้อธรรมที่อาจารย์เมตตานำมาสอนสั่งให้พวกเรา..เข้าใจง่ายและไม่ยาก จนพวกเราบางคนสามารถปฏิบัติเข้าถึงข้อธรรมนั้นๆ  ความคิดเห็นส่วนตัวของผมแล้วคิดว่า…. เรื่องราวธรรมะดีๆ..หาฟังได้ไม่ง่ายนัก...

 

บรรดาหนังสือธรรมะต่างๆ ที่เขียนขึ้นโดยท่านคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายนั้น ผมเองก็มีความเชื่อมั่นว่า… ย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องตามความคิดเห็น ของผู้ประพันธ์ที่ได้ศึกษามา  ท่านเองจะได้ความรู้มากน้อยขึ้นอยู่ว่า... ท่านผู้อ่านหรือติดตามหนังสือเล่มนั้นๆ แล้วนำมาปฏิบัติ ท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิตของตนเอง ได้มากน้อยและดีขนาดไหน และตามสภาวะของ “ภูมิธรรม” ของแต่ละท่านนั้นเอง…..

 

      ความหมายของคำว่า “ภูมิธรรม” นั้น  ผมขอยกตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ ในทางโลก .. ก็อาจหมายถึงว่า ..เราเรียนจบวุฒิการศึกษาอะไร  เมื่อเราทำงานไปนานๆ  เรามีประสบการณ์มากขึ้นก็จะดำรงตำแหน่งสูงขึ้น  ได้รับเงินเดือนเท่าไหร่...เป็นต้น    ซึ่งสิ่งดังกล่าวเป็น “รูปธรรม” ที่สามารถจับต้องได้ เป็นเครื่องชี้วัดหรือมีสิ่งบ่งบอกได้  คนส่วนใหญ่ย่อมเข้าใจและยอมรับได้เลย... แต่ในทางธรรมแล้ว ท่านจะต้องเข้ามาประพฤติ ปฏิบัติธรรมด้วยตัวของท่านเอง เช่น ตั้งใจละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ตามโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งผลที่ได้รับจะเป็นเพียง “นามธรรม” ไม่สามารถจับต้องได้  ได้แต่…ความสงบ ความสุข ความสบายใจ และบางท่านถึงกับกล่าวว่า “ได้เห็นตัวเองแล้ว”… ถึงแม้ว่าเขาเหล่านั้น บางคนจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ไม่สู้ดีนัก  แค่พอมีพอกินก็ตาม.. แต่เขาเหล่านั้นก็พอใจในความสุข ตามอัตภาพที่เขามีอยู่ในเวลานั้นๆ….

 

เนื่องจาก.. เรื่องเล่าจากท่านอาจารย์…. เป็นเรื่องจริงทุกเรื่องที่เกิดขึ้น. ที่ท่านอาจารย์ประสบและได้รู้..ได้เห็นด้วยตนเอง  บางกรณีท่านผู้อ่านอาจจะหาข้อพิสูจน์ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ได้ไม่ง่ายเลย…. ไม่เหมือนกับความจริงที่ว่า.. “พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก  และตกทางทิศตะวันตก” นั่นเป็นเรื่องจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์อีกแล้วด้วยวิธีการใดๆ  เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับโดยดุษฎีภาพ...คือ “ยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข” นั่นเอง….

 

ดังนั้น    ผมในฐานะที่เป็นผู้เรียบเรียงนั้น… เบื้องต้นจึงใคร่ขอทำความเข้าใจและวิงวอนให้ท่านผู้อ่านทั้งหลาย โปรดอ่านและใช้วิจารณญาณในการพิจารณา ด้วยจิตใจที่เป็นกลาง และมีใจรับฟัง แล้วนำไปพิจารณาใคร่ครวญอย่างมีสติ ….หากเรื่องใดที่ท่านเห็นว่า ไม่น่าเป็นไปได้แล้วไซร้…. ผมก็ใคร่ให้ท่านได้อ่านเพียงผ่านไป ขอได้โปรดอย่าได้ตำหนิติเตียน (เพ่งโทษ) แต่อย่างใดเลย …. ถือว่าเป็นเรื่องที่อ่านประดับความรู้ เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน และหากว่าในภายภาคหน้า ท่านได้ประสบเรื่องราวตามที่ผมได้นำมาถ่ายทอด เมื่อนั้นท่าน ก็อาจจะได้รับประโยชน์  และจะเป็นเครื่องเตือนใจท่านได้ ไม่มากก็น้อยครับ….

 

“เรื่องเล่าจากท่านอาจารย์” ตอนที่ ๑  เรื่อง “รถไฟ มี โบกี้”

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๙ : ท่านอาจารย์และชาวคณะฯ ได้เดินทางไปร่วมงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ของลูกศิษย์คนหนึ่ง  ในช่วงเวลาที่รอ...พระภิกษุสงฆ์จะเดินทางมาถึง เพื่อประกอบพิธีการทางศาสนาอย่างเป็นทางการนั้น  ท่านอาจารย์ขจร ได้เมตตาสอนธรรมะกับพวกเราและเปรียบเทียบว่า ….

 

“พวกเราชาวคณะฯ ที่กำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นั้น…. เหมือนพวกเรากำลังโดยสารอยู่ในรถไฟขบวนหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ ๖ โบกี้ บางคนอยู่ในโบกี้ที่ ๑,  บางคนอยู่ในโบกี้ที่ ๒, บางคนอยู่ในโบกี้ที่ ๓, บางคนอยู่ในโบกี้ที่ ขณะที่บางคนก็ยังอยู่ในโบกี้ที่ , และรถไฟขบวนนั้นก็กำลังวิ่งตามรางไปข้างหน้า โดยมีท่านอาจารย์เป็นผู้นำพาไป” ….

 

อาจารย์ยังได้ขยายความต่ออีกว่า …. บางคนที่อยู่ในโบกี้ที่ นั้น มีความรู้สึก “ละอายแก่ใจ” บอกกับตัวเองว่า   เรายังทำไม่ได้ ยอมที่จะถอยตัวเองลงมาอยู่ในโบกี้ที่    ขณะที่บางคนที่อยู่ในโบกี้ที่ อยู่แล้ว กลับมีกำลังใจที่แย่หนักกว่านั้น นอกจากบอกกับตัวเองว่า เรายังทำไม่ได้แล้ว .. ยังยอมที่จะลงจากขบวนรถไฟไป… เพราะคิดว่า รถไฟคงไปได้ไม่ไกลเท่าไรนัก ขอลงเดินสักพักก่อน ถ้าเปลี่ยนใจอยากกลับไปขึ้นรถไฟ คงจะสามารถกลับมาขึ้นรถไฟได้ทัน…โดยท่านเหล่านั้นหารู้ไม่ว่า... ท่านที่เดินตามรถไฟอยู่นั้น อาจไม่มีโอกาสขึ้นรถไฟได้อีกเลย หรือแม้แต่ท่านที่ยังอยู่ในโบกี้ที่ ๖ อยู่ก็ตาม   ท่านจะพบว่า ข้อต่อที่เชื่อมระหว่างโบกี้ที่ ๖ กับโบกี้ที่ ๕ เป็นสนิม ไม่มั่นคง พร้อมที่จะหลุดออกจากกันได้ตลอดเวลา  หากขาดท่านอาจารย์ที่จะนำพาต่อไปข้างหน้า….

 

แต่ทว่าบางคนในคณะฯ ที่ได้รับฟังคำแนะนำในการปฏิบัติธรรม แรกๆ เมื่อมีทุกข์ ก็พยายามปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ ตามที่อาจารย์แนะนำ เมื่อได้คิดเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงในทุกข์แล้ว ภูมิธรรมก็จะขยับจากโบกี้ที่ ๖ ไปอยู่โบกี้ที่ ๕, ๔, ๓, ๒ และ ๑ ตามลำดับ    โดยอาจารย์ได้เปรียบเทียบว่า ..“คนที่อยู่ตั้งแต่โบกี้ที่ ขึ้นไปนั้น…. ภูมิธรรมของเขาเหล่านั้นได้ก้าวเข้าสู่พระอริยะมรรค พระอริยะผลแล้ว มีความพร้อมที่จะเดินทางถึงจุดหมายปลายทางได้”    ท่านอาจารย์จึงฝากให้ลูกศิษย์ทุกคนกลับไปสำรวจตัวเองดูว่า… ขณะนี้แต่ละคนนั้นกำลังอยู่ในโบกี้ไหนของรถไฟขบวนนี้ ??? และท่านยังสอนอีกว่า… ให้พิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของความตาย และพิจารณาจนเกิดไตรลักษณญาน (การรู้แจ้ง เห็นจริง ในการเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และเสื่อมไปในบั้นปลาย) เมื่อนั้นเหล่าลูกศิษย์ก็จะเกิดความสลดเบื่อหน่ายในทุกข์ เมื่อนั้นเราเองก็จะพ้นทุกข์…..

 

ตามความเห็นของผมแล้ว นั่นหมายความว่า     “ท่านที่อยู่ในโบกี้ และโบกี้ที่ ๖ อาจจะกำลังใช้ชีวิตอยู่ ด้วยความประมาท” … เพราะเราทุกท่านที่กิดมานั้น ย่อมมีความตายรออยู่เบื้องหน้า และ ความตายที่รออยู่นั้น ก็ไม่มีนิมิตรหมายบ่งบอกว่า จะเกิดขึ้นกับเราหรือญาติพี่น้องเมื่อไร..  ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ และพระองค์ท่านก็เคยเทศน์สอนพระอานนท์ ซึ่งเป็นพระอุปัฎฐากของพระองค์ว่า “ตถาคตคิดถึงความตายทุกลมหายใจ”    นอกจากนี้แม้แต่ในวาระสุดท้ายก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น ก็ยังให้ปัจฉิมโอวาทว่า     “ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงด้วยความไม่ประมาทเถิด”     ซึ่งถือเป็นการเตือนสติให้พวกเรานั้น… จะต้องเร่งสร้างสติสัมปชัญญะด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจอยู่ตลอดเวลา (การเข้าลม), และให้หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรม ตามโอวาทปาติโมกข์ คือ ละชั่ว..ทำดี..ทำจิตใจให้ผ่องใส..นั่นเอง..

 

และท่านอาจารย์ก็ยังมีเมตตาตักเตือนยืนยันคำพูดของหลวงพ่อฯ (พระราชพรหมยาน) อยู่เสมอว่า…. “ตายแล้วยังไม่จบ หลังตายมีจริง  ชาตินี้เกิดมาแล้ว เราอย่าให้ขาดทุน!!!”

 

จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น หากท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นเป็นประการใด ขอได้โปรดส่ง e-mail เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ครับ...

 

ครั้งต่อไป... ผมจะได้นำ “เรื่องเล่าจากท่านอาจารย์” ตอนที่ ๒ เรื่อง อานิสงส์ของการร้อยดอกไม้ (เพื่อบูชาพระรัตนตรัย)…… มานำเสนอและเล่าให้แก่ท่านผู้ติดตามในเว็บของเราต่อไปครับ.....

 

****************************************************                             

 

 

โดย….. เต่าน้อย

๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๙

 

ตอนที่ ๒  :  เรื่อง… อานิสงส์ของการร้อยดอกไม้